Home / 68 / 69 / 70 / 71 / 72 / 73 / 74 / 75 / 76 / 77 / 78 / 79 / 80 / 81 / 82 / 83 / 84 / 85 / 86 / 87 / 88 / 89 / 90 / 91 / 92 / 93 / 94 / 95 / 96 /97/ 98 / 99 / 00 / 01 / 02 / 03 / 04 / 05 / 06 / 07 / 08 / 09 / 10 / 11 / 12 / 13 / 14 / 15 / 16

แนวคิด 'หน่วง'

ผลงาน หน่วง เป็นผลงานที่คิดโดยใช้พื้นที่ของหอศิลป์และชื่อโซน กรุงเทพฯ ในฝัน (Dream Bangkok) เป็นโจทย์ กรุงเทพฯในฝันของผม คือ เมืองใหญ่ที่คนที่อาศัยอยู่ไม่ต้องมาเคร่งเครียดเกี่ยวกับเรื่องเวลา รีบตื่น รีบกิน รีบเดิน รีบขับรถ รีบขึ้นรถ รีบไปธุระที่อื่นต่อ รีบซื้อของ รีบกินเหล้า รีบไปรับลูก รีบเข้าห้องน้ำ รีบมีความสัมพันธ์ทางเพศ รีบตามกระแสแฟชั่น รีบเช็คเมลล์และรีบตอบเมลล์ รีบอ่านข่าว รีบที่จะสื่อสาร รีบที่จะประสบความสำเร็จรีบร้อนและรีบเร่งตลอดเวลา ใช้เวลาตามตัวเลขหรือเข็มนาฬิกา กี่ครั้งที่เรามีสติและใช้เวลาที่ดำเนินไปในปัจจุบัน รับรู้ว่าเรากำลังเดินอยู่ กำลังกินอยู่ กำลังขับถ่ายอยู่ การพัฒนาไม่ได้หมายถึงการใช้เวลาช่วงสั้นๆในการกระทำสิ่งใดให้ลุล่วงและสำเร็จ การพัฒนาน่าจะเป็นการเข้าใจและยอมรับถึงความหลากหลาย ความแตกต่างทางศักยภาพของแต่ละคน

ผมจึงพยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในกรุงเทพ พยายามให้เขาทำอะไรช้าๆดูบ้าง จึงออกแบบทางเดินให้ซับซ้อน และให้เส้นทางการเดินวกไปวนมาหรือทำให้เขาต้องเดินอ้อมมากที่สุด ทำให้เกิดแนวคิดในการนำเอาเสามาขวางตามเส้นทางการเดิน ผมไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสวยงามของเสา เนื่องจากเป้าหมายหลักคือต้องการทำให้คนดูใช้เวลาในการเดินนานที่สุด เสาจึงเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง การที่ใช้สแลนสีดำ เพราะต้องเน้นผ้าโปร่งแข็งสีเหลืองที่อยู่ด้านใน สีดำและสีเหลืองแทนความมืดและความสว่าง ความทุกข์กับความหวัง ถ้าใช้สแลนสีเขียวหรือตาข่ายพลาสติกหกเหลี่ยมสีเขียว ผ้าโปร่งแสงก็เป็นเพียงผ้าที่มาประดับเสาให้สวยงาม มีสีสันมากขึ้น แต่ไม่ได้แทนความหวังตามที่ผมตั้งใจไว้ มันเป็นความหวังของผมเหมือนกันว่า เมื่อคนดูเดินไปตามเส้นทางที่เต็มไปด้วยเสาต่างๆ เมื่อเขามองเสาในทิศทางที่ย้อนแสงจะมองเห็นสีเหลืองที่เรืองอยู่ในเสา คล้ายกับเป็นความหวังและกำลังใจที่จะทำให้เขาเดินต่อไปในทางที่ลดเลี้ยวด้วยการก้าวย่างอย่างช้าๆและลำบาก

ส่วนมุ้งตาข่ายไนล่อนสีขาวนั้น ผมต้องการให้คนดูมีสมาธิกับงาน จึงปิดกั้นไม่ให้คนดูเห็นโครงสร้างสถาปัตยกรรมและงานออกแบบส่วนอื่นๆที่อยู่ในอาคาร ตัดขาดคนดูออกจากโลกภายนอกคล้ายสร้าง space หรือพื้นที่ใหม่ซ้อนทับพื้นที่เดิมของหอศิลป์ ผ้ามุ้งยังช่วยลดน้ำหนักสีดำของสแลนให้เบาบางลง ไม่ให้งานโดดหรือหลุดไปจากผลงานชิ้นอื่นในนิทรรศการและเมื่อมองจากชั้นอื่น ผ้ามุ้งจะช่วยสร้างมิติและความลึกลับ คนดูที่เดินไปตามเส้นทางเดินจะมองเห็นในบางจุด และหายไปในบางจุดของทางเดินจากการถูกเสาบัง ผ้ามุ้งยังช่วยในเรื่องของความปลอดภัย ในกรณีที่เสาที่ติดตั้งหลุดจากพื้นทางเดิน จะได้ไม่เอนหล่นหลุดจากขอบระเบียงลงไปยังชั้นล่างของอาคาร

๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

Home / 68 / 69 / 70 / 71 / 72 / 73 / 74 / 75 / 76 / 77 / 78 / 79 / 80 / 81 / 82 / 83 / 84 / 85 / 86 / 87 / 88 / 89 / 90 / 91 / 92 / 93 / 94 /95 / 96/ 97 / 98 / 99 / 00 / 01 / 02 /03 / 04 / 05 / 06 / 07 / 08 / 09 / 10 / 11 / 12 / 13 / 14 / 15 / 16 /